หน้าหลัก >> กิจกรรมโครงการ >> กิจกรรมการศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ และคืนข้อมูลของเทศบาลนครเกาะสมุยแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

2) กิจกรรมการศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ และคืนข้อมูลของเทศบาลนครเกาะสมุยแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน


คณะนักวิจัยร่วมกับเทศบาลนครเกาะสมุยพร้อมด้วยกลุ่มเป้าหมาย ลงพื้นที่ศึกษาบริเวณชุมชนอ่างทอง (สองฝั่งถนนอ่างทอง) ตำบลอ่างทอง และชุมชนแหลมสอ ตำบลหน้าเมือง เพื่อสำรวจภาคสนาม การสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก การเก็บแบบสอบถาม และการสนทนากลุ่มย่อย กับกลุ่มเป้าหมายหลัก จำนวน 80 คน ได้แก่ ภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภาคี ประกอบด้วย (1) ภาคประชาสังคม จำนวน 30 คน ได้แก่ กลุ่มคนทุกช่วงวัย กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในเขตเทศบาลนครเกาะสมุย (2) ภาคเอกชน จำนวน 20 คน คือ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรเอกชน หรือสมาคม ได้แก่ ผู้ประกอบการ (เช่น ร้านค้าจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ร้านอาหาร บริษัททัวร์ บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยว ร้านค้า ที่พัก หรือสถานบริการต่าง ๆ ขนส่งมวลชน ขนส่งพัสดุ อาหาร และสินค้า เป็นต้น) รวมทั้งสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย และสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอำเภอเกาะสมุย (3) ภาครัฐ จำนวน 20 คน ได้แก่ สำนักงานเทศบาลนครเกาะสมุย สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาอำเภอเกาะสมุย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเกาะสมุย รวมทั้งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี (4) ภาควิชาการ จำนวน 10 คน คือ นักวิจัย อาจารย์ นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษา ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่สุราษฎร์ธานี ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยศิลปากร และโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเกาะสมุย ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2566 ตามวิธีการของเครื่องมือวิจัยที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ผ่านวิธีการจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาทำการวิเคราะห์ข้อมูล และเป็นการคืนข้อมูล-ตรวจสอบความถูกต้องและการออกแบบระบบฐานข้อมูลบนฐานทุนทางวัฒนธรรมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม


คณะทำงานภาคีเครือข่ายความร่วมมือเมืองแห่งการเรียนรู้เกาะสมุย ดำเนินการศึกษาบริเวณเพื่อการสำรวจภาคสนาม ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2566 เพื่อสังเกตการณ์ พร้อมทั้งการถ่ายรูปสภาพทั่วไปทางกายภาพของ “พื้นที่ต้นแบบ” (นำร่อง) เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำ “แผนที่วัฒนธรรม” นอกจากนี้ ยังได้สำรวจเก็บข้อมูลจาก “แบบสัมภาษณ์เชิงลึก” (ภาคผนวก) และ “แบบสอบถาม” (ภาคผนวก) และคืนข้อมูลของเทศบาลนครเกาะสมุยแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วยวิธีการสัมภาษณ์จัดประชุมแบบสนทนากลุ่มย่อย เพื่อร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเบื้องต้น ก่อนนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในกิจกรรมถัดไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) ผลจากการสำรวจและจัดทำแผนที่วัฒนธรรม พบว่า คณะทำงานภาคีเครือข่ายความร่วมมือเมืองแห่งการเรียนรู้เกาะสมุย ได้ลงพื้นที่ด้วยการเดินสำรวจและจัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ด้วยการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ที่มีการใช้แบบฟอร์มตามที่เตรียมการมาแล้ว ควบคู่ไปกับข้อคำถามแบบเปิดกว้าง และไม่เป็นทางการมากนัก พร้อมกับการบันทึกข้อมูลทรัพยากรวัฒนธรรมของท้องถิ่นทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ภายใต้กระบวนการจัดทำแผนที่วัฒนธรรม (อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำลงระบบดิจิทัล) ซึ่งได้ทราบถึงความต้องการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาอาคารเก่าบริเวณย่านเมืองเก่าชุมชนอ่างทอง เพื่อพัฒนาเป็นถนนแห่งการเรียนรู้ (Learning Street) และการยกระดับบ้านโบราณ ณ สมุย ในชุมชนแหลมสอ และ “เรือนรับรองพระอาคันตุกะ” ของวัดสำเร็จ ในชุมชนมะเร็ต เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum)

2) ผลจากแบบสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่า คณะทำงานภาคีเครือข่ายความร่วมมือเมืองแห่งการเรียนรู้เกาะสมุย ได้ลงพื้นที่และเชิญกลุ่มเป้าหมายมาสนทนาเกี่ยวกับหัวข้อสนใจด้วยวิธีการจัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ด้วยการใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกที่มีการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (ภาคผนวก) ในการนี้ สามารถสรุปผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกในด้านทุนทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของเทศบาลนครเกาะสมุย

Norway

Norway

3) ผลจากแบบสอบถาม ทั้งนี้ คณะทำงานภาคีเครือข่ายความร่วมมือเมืองแห่งการเรียนรู้เกาะสมุย ยังได้ดำเนินการลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลห่วงโซ่คุณค่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของผู้ประกอบการในพื้นที่ (รูปที่ 4.3) สำหรับใช้ในการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ของผู้ประกอบการ โดยระบุเป็นประธานกลุ่มทั้ง 3 กลุ่ม (กลุ่มผู้ประกอบการวัฒนธรรม) รวมจำนวน 3 คน ซึ่งแบบสอบถามนี้ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ไปที่กลุ่มผู้ประกอบการวัฒนธรรม ด้วยวิธีการจัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ด้วยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview) ที่มีการใช้แบบฟอร์มตามที่เตรียมการมาแล้ว โดยแบบสอบถามประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน 3 ตอน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนที่ 2 การประเมินผลตอบแทนด้านมิติเศรษฐกิจ และส่วนที่ 3 การประเมินมูลค่าความเต็มใจจะจ่าย

ทั้งนี้ ในการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พบว่ามีผู้เข้าร่วมในโครงการวิจัย คือ “อาคารพาณิชย์โบราณ” ในย่านเมืองเก่าชุมชนอ่างทอง (หน้าทอน) ซึ่งคณะทำงานภาคีเครือข่ายความร่วมมือเมืองแห่งการเรียนรู้เกาะสมุย ได้ดำเนินการจัดประชุมและวางแผนการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการพัฒนาอาคารเก่าดังกล่าว ตลอดจนมีการวางแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ ในส่วนของ “บ้านโบราณ ณ สมุย” ในชุมชนแหลมสอ ซึ่งเป็นส่วนที่มีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น 2 ชิ้นที่รายงานข้างต้น และเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม ซึ่งในการเยี่ยมชม (มีค่าจ่ายเกี่ยวกับการบำรุงรักษาตัวบ้าน คือ ค่าจ้างแรงงาน เดือนละ 5,000 บาท ค่าน้ำค่าไฟ เดือนละ 400 บาท) และ “เรือนรับรองพระอาคันตุกะ” ของวัดสำเร็จ ในชุมชนมะเร็ต ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการทางภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับภาคีเครือข่าย


ดังนั้น บทสรุปจากการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลจากการดำเนินงานกิจกรรมที่ 2 ด้านการศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ และคืนข้อมูลของเทศบาลนครเกาะสมุยแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ภายใต้กรอบแนวคิดการวิจัยในการเชื่อมโยงความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญและผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (Stakeholder and User) เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนเทศบาลนครเกาะสมุยสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกระบวนการวิจัย คือ “การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Action Research : PAR) “กลการศึกษาท้องถิ่น” (Local Study) “กลไกการจัดการเชิงนโยบาย” “กลไกการสร้างแบรนด์ของเมือง” “กลไกการจัดการนิเวศการเรียนรู้ของเมือง” โดยการดำเนินงานในกิจกรรมที่ 2 นี้ ได้ผลผลิตที่จะส่งมอบ ได้แก่

1) เกิดการรับรู้และแนวทางการอนุรักษ์และยกระดับเป็นนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเมือง สำหรับคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย ด้วยการจัดเวที Focus Groups และร่วมกันกำหนด “ถนนแห่งการเรียนรู้” (Learning Street) จำนวน 1 พื้นที่ (ถนนอ่างทอง) รวมทั้ง “อาคารต้นแบบด้านพิพิธภัณฑ์มีชีวิต” (Living Museum) จำนวน 4 พื้นที่ (อาคารพาณิชย์โบราณ โรงหนังเก่า บ้านโบราณ ณ สมุย และเรือนรับรองพระอาคันตุกะ ณ วัดสำเร็จ)

2) ได้ฐานข้อมูล (Database & Data Catalog) ทุนทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของเทศบาลนครเกาะสมุย

3) ภายใต้กระบวนการพัฒนางาน Learning City ด้วยกลไกการสร้างแบรนด์ (Brand) ของเมืองครั้งนี้ ยังพบว่าเกาะสมุย ดินแดนแห่งการท่องเที่ยว กระแสหลักของโลก ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยและ จังหวัดสุราษฎร์ธานีรวมทั้งท้องถิ่นเป็นจำนวนมากในแต่ละปี แต่ยังมีการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง คือ “รูปแบบวิถีและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวสมุย” หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “เสน่ห์ความเป็นสมุย” ที่ยังคงสืบทอดและดำรงอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรม อาหารการกิน ศิลปะ หัตถกรรม และการแสดงพื้นถิ่นของชาวสมุย แต่ถูกบดบังจากกระแสการท่องเที่ยวหลักและยังขาดการเหลียวมอง ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแนวคิดในการสร้าง Brand ของย่านเมืองเก่าเทศบาลนครเกาะสมุยชื่อว่า “กิน อยู่ คือ หมุย” (Eating and Living are Mui) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการตลาด (Marketing Campaign) เข้ามาช่วยสร้างการรับรู้ถึงเสน่ห์ความเป็นสมุย เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นบนฐานทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์อันดีงามของชาวสมุย เพื่อนำไปสู่การ Rebranding City สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านการรับรู้และการยอมรับ (Recognition) ในระดับพื้นที่ของเกาะสมุย รวมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ต่อไป