1) บริบทเทศบาลนครเกาะสมุย
จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีย่านเมืองเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งอู่อารยธรรมมาตั้งแต่โบราณ ด้วยความรุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรมจากการมีที่ตั้งศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย ที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าและขนส่งทางทะเลที่สำคัญในอดีตมากว่า 1,000 ปี ซึ่งปรากฏเป็นร่องรอยและทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัด สำหรับ “เกาะสมุย” เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยที่สร้างรายให้ประเทศจากการท่องเที่ยว ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เกาะสมุยเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย รองจากเกาะภูเก็ตและเกาะช้าง ที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทยอาณาเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลและมีภูเขาอยู่บริเวณตอนกลางของเกาะ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 252 ตารางกิโลเมตร เฉพาะตัวเกาะสมุยเองมีพื้นที่ประมาณ 227 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ เกาะสมุยมีความหลากหลายของชาติพันธ์ และการตั้งถิ่นฐานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตอย่างมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น และสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลานาน เช่น พิธีกรรมทางความเชื่อแบบชาวจีนไหหลำ งานศิลปะและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ตามภูมิปัญญาของท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ เกาะสมุยยังมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่น สวยงาม มีเสน่ห์แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำทะเลใสบริสุทธิ์ หาดทรายขาวทอดขนานไปกับทิวต้นมะพร้าวริมชายหาด น้ำตกที่มีน้ำใสเย็นเกือบตลอดทั้งปี และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น เช่น วัดสำเร็จ วัดละไม วัดพระใหญ่ เจดีย์แหลมสอ ฯลฯ เป็นต้น
2) เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (2545) ให้ความหมายของการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ว่า “เป็นการศึกษาที่เกิดจากผสมผสานระหว่าง การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง” สอดคล้องกับ สุนทร สุนันท์ชัย (2548) กล่าวถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตไว้ว่า เป็นการศึกษาของมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนตาย ที่มุ่งพัฒนามนุษย์ให้ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกอย่างต่อเนื่อง เป็นจากการเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบ อีกทั้ง สุมาลี สังข์ศรี (2543) นิยาม การเรียนรู้ตลอดชีวิต หมายถึง การศึกษาที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นการศึกษาที่ให้เกิดการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง การศึกษานั้นรวมถึงการศึกษาในทุกรูปแบบ ทั้งในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา โดยไม่มีการจำกัดเวลาและสถานที่จากทุกแหล่งการเรียนรู้ อันได้แก่ทั้งจากชุมชน และสังคม การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ได้เป็นแต่เพียงแค่ส่วนหนึ่งของการศึกษาและการฝึกอบรม แต่จะกลายเป็นแนวทางเบื้องต้นในการเตรียมพร้อมและการมีส่วนร่วมในบริบทการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Longworth, 2006) การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 เพราะการเรียนรู้ไม่ใช้แต่เพียงอยู่ในรูปแบบของหลักสูตรการศึกษาหรือในรั้วสถานศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงรูปแบบ การศึกษาจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่รวมกันให้เกิดการเรียนรู้ ไปจนถึงการเรียนรู้อันเกิดจากประสบการณ์ในครอบครัว ชุมชน สังคมและที่ทำงาน
3) นวัตกรทางวัฒนธรรม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการกล่าวถึงคำว่า “นวัตกรรม” (Innovation) เพิ่มมากขึ้น โดยมีการระบุว่า นวัตกรรมเป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญในการพัฒนาและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมต่อการขับเคลื่อนประเทศ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการผลิต “นวัตกร” (Innovator) (ชนินทร เพ็ญสูตร, 2560, น.68) ในการบ่มเพาะนวัตกรที่มีคุณภาพ มีผู้เสนอแนะแนวทางและคุณลักษณะที่นวัตกรควรมีสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพหลายประการ เช่น แนวคิดเรื่องการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นรากฐานสำคัญต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม (วิสาข์ สอตระกูล, 2561) มีหลักการสำคัญคือ การออกแบบที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centered Design) โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง (Empathize) เป็นกระบวนการแรกในการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Viria Vichit-Vadakan, 2560) สอดคล้องกับ โทนี วากเนอร์ (2561, น.89) ซึ่งเสนอแนวคิดการสร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม ว่าแรงจูงใจภายในซึ่งประกอบไปด้วยการสำรวจ การเล่น และการเสริมสร้างพลังให้กับเยาวชน จะนำไปสู่คุณลักษณะของการเป็นผู้สร้างนวัตกรรมที่ดีเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น
4) ผู้ประกอบการวัฒนธรรม
จากในอดีตถึงปัจจุบันมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายและให้คำจำกัดความของคำว่า การเป็นผู้ประกอบการวัฒนธรรม หรือ Cultural Entrepreneurship ไว้อย่างหลากหลาย โดยการเป็นผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมนั้นเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ในแวดวงทางด้านการจัดการและการศึกษาด้านวัฒนธรรม แนวคิดได้ถูกริเริ่มขึ้นนี้ในปี ค.ศ. 1982 โดย Pual Dimaggio ที่ได้อธิบายแนวคิดว่าเป็นการสร้างรูปแบบองค์กรที่สมาชิกของชนชั้นสูงสามารถควบคุมและวางระเบียบได้ (Dimaggio, 1982) แต่ในยุคนั้นแนวคิดนี้ไม่ได้รับความสนใจมากนัก และได้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา (Dobreva & Ivanov, 2020) โดยมุมมองในปัจจุบันนั้นการเป็นผู้ประกอบการวัฒนธรรมนับเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยการสร้างและพัฒนาบุคคลที่เรียกว่า ผู้ประกอบการวัฒนธรรม หรือ Cultural Entrepreneurs ให้ตระหนักถึงคุณค่าทางวัฒนธรรม มีวิสัยทัศน์ในการสร้างสรรค์ และมีความสามารถในการบริหารจัดการทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม ทุนทางการเงิน และทุนทางวัฒนธรรม สู่การสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ บริการ และกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม (Tremblay, 2008; Klamer, 2011) ผู้ประกอบการวัฒนธรรมเปรียบเสมือนตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและเป็นตัวแทนของการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวัฒนธรรม (Toghraee & Monjezi, 2017) ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมการทำงานร่วมกันทางสังคมและความรู้สึกเป็นเจ้าของ สร้างผลกระทบ (Impact) ต่อความเติบโตของท้องถิ่นผ่านการบริหารจัดการและพึ่งพาตนเอง และนำคุณค่ามาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Wilson & Stokes, 2002; Varbanova, 2013; ENCATC, 2015)
5) พื้นที่วัฒนธรรม
พื้นที่วัฒนธรรม หรือ Cultural Space เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมอันเกิดจากกระบวนการสืบค้นและจัดทำแผนที่วัฒนธรรมร่วมกันของกลุ่มเป้าหมายและเครื่องข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ย่าน ชุมชน หรือเมือง เช่น ศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ถนนวัฒนธรรม ตลาดวัฒนธรรม เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่ที่แสดงออกถึงคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนทางวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ศูนย์การเรียนรู้ เป็นศูนย์กลางความรู้ของชุมชนที่จะนำไปสู่การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้สำหรับประชาชนในชุมชน เป็นแหล่งเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ การถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสืบทอดภูมิปัญญา วัฒนธรรม ค่านิยม และเอกลักษณ์ของชุมชน อีกทั้งเป็นแหล่งบริการชุมชนในด้านต่างๆ เช่นการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการเรียนรู้ของคนในชุมชน โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้เพื่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ก่อให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ก่อให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ของประชาชนดำเนินการ โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ซึ่งจะก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน (สุวุฒิ วรวิทย์พินิตและคณะ, 2560) นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้ ยังเป็นแหล่งการเรียนรู้มีบทบาทในการให้การศึกษาแก่ผู้เรียน ทั้งในระบบ และนอกระบบ(กระทรวงศึกษาธิการ, 2544)
6) ทุนทางวัฒนธรรม
ทุนทางวัฒนธรรม หรือ Cultural Capital เป็นแนวคิดถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.1970 โดยนักสังคมวิทยา ชื่อว่า Pierre Bourdieu และ Jean-Claude Passeron (1990) ที่ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายในเชิงสังคมโดยมีมุมมองว่าทุนทางวัฒนธรรมคือทรัพย์สินทางสังคมของบุคคล เช่น การศึกษา สติปัญญา วิธีการพูด ลักษณะการแต่งกาย เป็นต้น (Golsorkhi & Isabelle; 2006; ฐานิดา บุญวรรโณ, 2565) ซึ่งมีประโยชน์จะส่งเสริมความคล่องตัวทางสังคมในสังคมที่มีการแบ่งชนชั้น ซึ่งต่อมาแนวคิดนี้ได้ถูกพัฒนาเชื่อมโยงสู่มุมมองทางด้านเศรษฐกิจและถูกนำมาปรับใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยได้มีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความหมายและคำจำกัดความของคำว่า ทุนทางวัฒนธรรม ไว้หลากหลายทัศนะ โดยหมายถึงผลผลิตทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ที่มีผลต่อการผลิตสินค้าและบริการ ทำให้การผลิตสินค้าและบริการขยายตัวเพิ่มขึ้น (อรุณี ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์, 2554: Njuguna, et al., 2020) ในเชิงเศรษฐกิจทุนทางวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเมืองตามแนวคิดเมืองสร้างสรรค์เป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาสร้างเป็นมูลค่าในทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ได้ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เป็นการสะท้อนมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่มีอยู่ และสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล (กษิด์เดช เนื่องจำนงค์, 2560; Thompson, 2018) โดยที่นักวิชาการได้ให้ความหมายของคำว่าทุนวัฒนธรรมไว้ว่า หมายถึงทรัพย์สินที่มีคุณค่าในตัวเองและเกิดจากการสั่งสมและให้คุณค่าและสำคัญนอกเหนือจากมูลค่าทางเศรษฐกิจ
7) ทุนทางวัฒนธรรม
องค์การวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนดว่า “มรดกทางวัฒนธรรม” (Cultural Heritage) ประกอบด้วยสิ่งสร้างสรรค์ ของคนในอดีตที่เป็นรูปแบบที่จับต้องได้ เช่น ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้าง แต่รวมทั้งนามธรรม (Intangible) เช่น ภาษา ศีลธรรม จริยธรรม สุนทรียศาสตร์ ตลอดจนอาหารการกิน การแต่งกาย ศาสนา และความเชื่อฯลฯ สำหรับ “แผนที่วัฒนธรรม” (Cultural Mapping) เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแสดงตัวตนของชุมชนและการบันทึกข้อมูลทรัพยากรวัฒนธรรมของท้องถิ่น เป็นการบันทึกองค์ประกอบทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม หรือสิ่งที่เป็นนามธรรม การให้คุณค่าในกระบวนการทำแผนที่ทางวัฒนธรรมจะทำให้ชุมชนเป็นหนึ่งเดียวกัน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมหรือโครงการสำคัญสำหรับชุมชนหลายอย่าง ทั้งการบันทึกการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรวัฒนธรรม (Engelhardt, et al., 2012; Taylor, 2013)
8) การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
“การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Action Research: PAR) ถือเป็นหลักการสากลที่อารยประเทศให้ความสำคัญ และเป็นประเด็นหลักที่สังคมไทยให้ความสนใจ เพื่อพัฒนาการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมตามหลักการธรรมาภิบาลที่ภาครัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจเพื่อสร้างความโปร่งใสและเพิ่มคุณภาพการตัดสินใจของภาครัฐให้ดีขึ้น และเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุก ๆ ฝ่าย ในการบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย พ.ศ. 2550 ดังนั้น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 จึงต่างให้ความสำคัญต่อการบริหารราชการอย่างโปร่งใส สุจริต เปิดเผยข้อมูล และการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ การตัดสินใจทางการเมือง (Marshall et al., 2006) รวมถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกระดับโดยหลักการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึง การเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาคราชการ