ผลจากการดำเนินงานวิจัยและงานบริการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายพบว่า เทศบาลนครเกาะสมุยยังไม่ดำเนินการส่งเสริมหรือพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถนนแห่งการเรียนรู้ (Learning Street) ตลาดสินค้าท้องถิ่นเพื่อการเรียนรู้ (Local Learning Market) และพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum) เป็นต้น เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ อีกทั้งหน่วยงานที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านการยกระดับและขับเคลื่อนเทศบาลนครเกาะสมุย สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบกับบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ และต้นทุนเดิมที่จะเชื่อมโยงข้อมูลกับนักวิจัยท้องถิ่นของมหาวิทยาลัย ที่มีประสบการณ์การทำงานวิจัยและงานบริการวิชาการในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงมีความประสงค์ที่จะดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การสร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนเทศบาลนครเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ในพื้นที่ศึกษาบริเวณ ชุมชนอ่างทอง (สองฝั่งถนนอ่างทอง) ตำบลอ่างทอง และชุมชนแหลมสอ ตำบลหน้าเมือง โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ ภายใต้กรอบแนวคิดการวิจัยในการเชื่อมโยงความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญและผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (Stakeholder and User) ของการศึกษาครั้งนี้ โดยใช้ “กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Action Research : PAR) เพื่อสร้าง “กลไกการศึกษาท้องถิ่น” (Local Study) “กลไกการจัดการเชิงนโยบาย” “กลไกการสร้างแบรนด์ของเมือง” และ “กลไกการจัดการนิเวศการเรียนรู้ของเมือง” เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนเทศบาลนครเกาะสมุยสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ การศึกษาครั้งนี้ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งและทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภาคี ประกอบด้วย (1) ภาคประชาสังคม ได้แก่ กลุ่มคนทุกช่วงวัย กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในเขตเทศบาลนครเกาะสมุย (2) ภาคเอกชน คือ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรเอกชน หรือสมาคม ได้แก่ ผู้ประกอบการ (เช่น ร้านค้าจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ร้านอาหาร บริษัททัวร์ บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยว ร้านค้า ที่พัก หรือสถานบริการต่าง ๆ ขนส่งมวลชน ขนส่งพัสดุ อาหาร และสินค้า เป็นต้น) รวมทั้ง สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย และสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอำเภอเกาะสมุย (3) ภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเทศบาลนครเกาะสมุย สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาอำเภอเกาะสมุย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเกาะสมุย รวมทั้งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี (4) ภาควิชาการ คือ นักวิจัย อาจารย์ นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษา ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่สุราษฎร์ธานี ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยศิลปากร และโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเกาะสมุย
ดังนั้น ผลการดำเนินโครงการวิจัยนี้จะได้กลไกความร่วมมือระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เกิดนิเวศการเรียนรู้ของเมือง พื้นที่การเรียนรู้ และนักจัดการการเรียนรู้ในเมืองของเทศบาลนครเกาะสมุย เกิดการสร้างคุณค่าและโอกาสทางเศรษฐกิจท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตของคนในเทศบาลนครเกาะสมุยอย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป